“รักสิบล้อ ต้องรอสิบโมง” เพราะหลัง 10.00 น. พี่สิบล้อถึงจะวิ่งได้ และหยุดวิ่งอีกครั้งตอน 15.00 น. แล้วเจอกันอีกทีตอน 3 ทุ่ม ทำให้คนขับรถบรรทุกส่วนใหญ่ต้องวิ่งรถตอนกลางคืน แวะนอนตามจุดพักรถได้ในช่วงเช้า และ ช่วงเย็น ส่วนใหญ่แล้วพี่ ๆ ที่มีอาชีพขับรถบรรทุก จะมีไลฟ์สไตล์อีกรูปแบบหนึ่ง ใช้ชีวิตอยู่กับรถ และไม่สามารถเดินทางคนเดียวได้ เพราะของที่บรรทุกเพื่อไปจัดส่งให้ลูกค้านั้นมีมูลค่าสูง และมักมีมิจฉาชีพคอยดักขโมยของอยู่ตามทางที่วิ่ง จึงจำเป็นต้องมีคนนั่งไปด้วย เพื่อป้องกันทรัพย์สินเสียหาย
สิ่งที่มักต้องใช้บริการรถบรรทุกเพื่อขนส่ง ก็คือ น้ำมัน, สารเคมี, อาหารแห้ง, สินค้าอุปโภคบริโภค, กระดาษ เรียกได้ว่าข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่าง มักนิยมใช้รถบรรทุกขนส่งทั้งหมด ยกเว้นพวกหิน อิฐ ทราย จะมีขนส่งกันในระยะสั้น ๆ หากมีการก่อสร้างในทางไกลมักนิยมขนส่งทางเรือกันมากกว่า
อาชีพคนขับรถบรรทุกนั้น หากขับเป็นประจำในเส้นทางไกล ๆ ก็มีรายได้สูง เพราะต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงหลายอย่าง ต้องมีทักษะในการขับ และหาที่จอด รวมถึงป้องกันอันตรายที่เป็นความเสี่ยงระหว่างขับขี่ด้วย และยังมีข้อจำกัดที่คนขับรถบรรทุกต้องทราบ
ข้อจำกัดที่คนขับรถบรรทุกต้องทราบ
6 ล้อน้ำหนักไม่เกิน 15 ตัน และ 10 ล้อ น้ำหนักไม่เกิน 25 ตัน
รถบรรทุกมีการจำกัดน้ำหนักในการวิ่งทางราบ และบนทางด่วน ตามประกาศกำหนดพิกัดน้ำหนักรถบรรทุกที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 ได้กำหนดน้ำหนักของรถบรรทุกรวมน้ำหนักรถไว้ว่า รถหกล้อต้องไม่เกิน 15 ตัน และรถสิบล้อ ต้องไม่เกิน 25 ตัน ทั้งนี้ระหว่างทางจะมีจุดชั่งน้ำหนักรถให้บริการอยู่ ส่วนใหญ่แล้วหากรถน้ำหนักเกิน ทางบริษัทเจ้าของสินค้าจะส่งรถอีกคันมาถ่ายสิ่งของเพื่อลดน้ำหนัก แต่ส่วนใหญ่แล้วพี่คนขับจะทราบกันดี และไม่ค่อยบรรทุกเกินกันอยู่แล้ว
**หากบรรทุกฝ่าฝืนน้ำหนักเกิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (อ้างอิงจาก สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ)
ผ้าใบคลุมรถแน่นหนา
ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปหากระหว่างทางมีฝนตก หรือมรสุมเข้า จะทำให้ข้าวของที่บรรทุกมาเสียหาย หลายครั้งที่ได้ยินข่าวว่าของหล่นลงมาจากรถบรรทุก แล้วไปตกใส่รถคันหลังทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นตามกฎหมายก็มีกำหนดระยะยื่นจากท้ายรถและความสูงเอาไว้ การคลุมผ้าใบนั้นต้องใช้ผ้าใบสีทึบ เพื่อไม่ให้ส่งแสงสะท้อนสู่ผู้ขับขี่ร่วมทาง รวมถึงการบรรทุกของอื่น ๆ ที่ต้องยึดติดกับตัวรถให้มีความแข็งแรงพอที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งของรั่วไหล ตกหล่น ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้
ระยะยื่น ของรถบรรทุกต่างจากรถกระบะ ตรงที่ห้ามยื่นเกินด้านหน้า และด้านข้างเลยแม้แต่น้อย แต่ด้านหลังยื่นจากตัวรถได้ไม่เกิน 2.5 เมตร และต้องติดธงสีแดงไว้ตอนปลายสุด หากวิ่งรถตอนกลางคืนต้นติดตั้งสัญญาณไฟสีแดงไว้ด้วย หากไม่ติด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
**หากรถบรรทุกฝ่าฝืนไม่คลุมผ้าใบทำให้มีของตกหล่น จะมีโทษปรับตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.ศ 2522 มาตรา 32 (3) ว่าตัวเจ้าของบริษัทผู้ประกอบการมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท และนายทะเบียนอาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนคนขับมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท (อ้างอิงจาก กรมการขนส่งทางบก) และหากเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ผู้ประกอบการต้องชดใช้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย
GPS ต้องเปิดตลอดเวลา
กฎหมายใหม่ที่เริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไปเกี่ยวกับการติดตั้ง GPS Tracker ของรถบรรทุก คือรถใหญ่อย่างรถเมล์หรือรถทัวร์ (รถโดยสารสาธารณะ) และรถบรรทุกลากจูงขนาดใหญ่ ต้องส่งสัญญาณติดตามให้แก่กรมขนส่งได้ติดตามรถได้ตลอดเวลา เพื่อจะได้ทราบความเร็วขณะขับขี่ และพิกัดของตัวรถส่งให้กรมขนส่งติดตามได้ หากไม่ติดตั้งเครื่องนี้ หรือไม่ดูแลรักษาสภาพเครื่องให้ส่งสัญญาณ GPS ได้ตามปกติ ตัวผู้ขับขี่เองมีโทษ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งตามกำกระทรวง (ข้อ 5(2(ง))) มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
น้ำมันรถเพียงพอกับระยะทาง
เช็คของบนรถ และตรวจสอบความแน่นหนาปลอดภัยได้แล้ว ก็อย่าลืมเช็คว่าน้ำมันรถเพียงพอต่อการวิ่งหรือเปล่า ส่วนใหญ่แล้ว พี่คนขับรถจะกะปริมาณน้ำมันไว้แล้วว่าจะสิ้นสุดที่ระยะจังหวัดใด เพราะการเข้าจอดเทียบเพื่อเติมน้ำมันรอบใหม่แต่ละครั้งนั้นกินเวลา และต้องต่อคิวนาน รวมถึงปั๊มสำหรับเติมน้ำมันรถบรรทุกนี้ไม่ได้สะดวกทุกที่ จะต้องเข้าจอดในปั๊มเฉพาะรถบรรทุกอันมีพื้นที่เพียงพอให้เลี้ยวเข้าจอดและหักเลี้ยวกลับรถได้ถนัดกว่าด้วย
ช่วงเวลาอนุญาต – ห้ามวิ่ง รถบรรทุก
นอกจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ระยะเวลาวิ่งรถก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่คนขับรถบรรทุกต้องรู้ ด้วยเขตพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครนั้นมีข้อกำหนดไม่ให้รถบรรทุกวิ่งเข้ามาในช่วงเวลาเร่งด่วน เพราะมีจำนวนรถเก๋ง และรถประจำทางวิ่งอยู่มาก อาจเกิดปัญหารถติด และอุบัติเหตุ เพราะเคยมีเหตุรถบรรทุกวัตถุไวไฟระเบิดในขณะที่รถคันอื่นติดไฟแดงกันอยู่เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ดังนั้นจึงมีข้อกำหนดช่วงเวลาการวิ่งรถไว้ ดังนี้
ระยะเวลาเดินรถบรรทุกในเขตกรุงเทพ
บนถนนปกติ
ลักษณะรถ
|
เวลาห้ามวิ่ง ช่วงเช้า
|
เวลาห้ามวิ่ง ช่วงเย็น
|
หมายเหตุเพิ่มเติม
|
รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป
|
06.00-09.00 น.
|
16.00-20.00 น.
|
เว้นวันหยุดราชการ
|
รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป
|
06.00-10.00 น.
|
15.00-21.00 น.
|
เว้นวันหยุดราชการ
|
รถบรรทุกซุง / เสาเข็ม
|
06.00-21.00 น.
|
เฉพาะในเขตกรุงเทพ
|
|
รถบรรทุกวัตถุไวไฟ
|
06.00-22.00 น.
|
เฉพาะในเขตกรุงเทพ
|
ระยะเวลาห้ามวิ่งรถบรรทุกบนทางด่วน
คนขับรถบรรทุกควรเตรียมค่าโดยสารให้เพียงพอกับการผ่านด่านทางด่วนแต่ละด่าน ส่วนใหญ่จะมีช่องทางพิเศษสำหรับรถบรรทุกและรถพ่วงโดยเฉพาะ และเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรถของผู้ประกอบการ ก็ต้องใช้เวลารอขอใบเสร็จกันนิดหน่อย ไม่เหมือนรถเก๋ง รถกระบะทั่วไป ที่วิ่งผ่านด่านได้โดยไม่ต้องรับใบเสร็จก็ได้
หากคุณเป็นคนขับรถบรรทุกมือใหม่และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำรถบรรทุกขึ้นทางด่วน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1543 ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้บริการทางพิเศษ เปิดรับสายตลอด 24 ชั่วโมง